วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2561

ทะเล ภูเขา ทุ่ง ถ้ำ ที่เดียวครบ@เขาสามร้อยยอด

อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรก เขาสามร้อยยอด



ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอดและอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๒๘๖ – ๒๘๗ โดยห่างจากถนนเพชรเกษม ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอปราณบุรี ประมาณ ๓๗ กิโลเมตร
มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน มีอายุประมาณ 280 - 230 ล้านปีมาแล้ว ที่มีความสูงชันริมฝั่งทะเลผสมกับที่ราบริมฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลนและห้วงน้ำทะเลตื้น รวมตลอดถึงเกาะหินปูนที่ตั้งเรียงรายใกล้ชายฝั่งทะเลซึ่งยาวจากเขากระโหลกทางทิศเหนือถึงเขาแร้งทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร ได้แก่ เกาะโครำ เกาะนมสาว เกาะระวาง เกาะระวิง เกาะสัตกูด และเกาะขี้นก

มีพื้นที่ราบที่มีน้ำขังตลอดปีอยู่ทางด้านตะวันตกของอุทยานแห่งชาติคือ ทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งในอดีตเคยเป็นทะเลหรืออ่าว ต่อมาถูกปิดกั้นด้วยตะกอนและสันทราย ทะเลถอยร่นออกไป ได้รับอิทธิพลน้ำจืดจากแผ่นดิน มีการสะสมของตะกอนที่ราบลุ่ม ค่อยๆ กลายเป็น ทุ่งน้ำกร่อยและทุ่งน้ำจืดตามลำดับ น้ำจืดในทุ่งสามร้อยยอดส่วนหนึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลผ่านห้วยโพระดก ห้วยขมิ้น ห้วยหนองคาง ห้วยไร่ตาพึง แล้วระบายลงสู่ทะเลตามคลองเขาแดง อีกส่วนหนึ่งไหลจากเทือกเขาสามร้อยยอด ทุ่งสามร้อยยอดมีระดับน้ำลึกเฉลี่ย 3เมตร 

เนื่องจากสภาพทางธรณีของเขาสามร้อยยอดเป็นหินปูนที่มีความลาดชันสูง ทำให้เกิดเป็นหน้าผาสูงชันและหุบเหวลึก มีความสูงของ ยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติถึง 605 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สำคัญได้แก่ ยอดเขาชโลงฟาง เขากระโจม เขาใหญ่ เขาถ้ำประทุน เขาแดง เขาเทียน เขาหุบจันทร์ และเขาขั้นบันได ฯลฯ บริเวณนี้ มีสภาพธรณีเป็นหินปูน มีหลายแห่งที่หินปูน ถูกอิทธิพลของธรรมชาติกัดเซาะหรือผุกร่อนกลายเป็นถ้ำหรือปล่องหุบเหวขนาดใหญ่ ที่สำคัญได้แก่ ถ้ำแก้ว ถ้ำไทร ถ้ำพระยานคร เป็นต้น
อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
หมายเหตุ เมื่อชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้วกรุณาพกบัตรค่าบริการติดตัว ขณะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบ

พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ตอนล่างสุดของภาคกลาง หรือด้านเหนือสุดของภาคใต้ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ในท้องที่ของกิ่งอำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมเขตการปกครอง 2 อำเภอ คือ กิ่งอำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี ขนาดพื้นที่ 61300.00 ไร่

ลักษณะภูมิอากาศ

ในฤดูหนาว ( ระหว่างเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ) ตั้งแต่ ๑๘ ถึง ๒๕ องศาเซลเซียส
ในฤดูร้อน (ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม) ตั้งแต่ ๒๓ - ๓๒ องศาเซลเซียส
ในฤดูฝน (ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน) ตั้งแต่ ๒๐ - ๓๐ องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า

เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นภูเขาและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้สังคมพืชในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดแตกต่างกัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ สังคมพืชที่เกิดในพื้นที่ชุ่มน้ำ และสังคมพืชป่าบก ดังนี้
• ป่าชายเลน ซึ่งพบตามแนวชายคลองบางปู คลองเขาแดง และลำรางสาขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ แสมทะเล โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตาตุ่มทะเล ตะบูนดำ โปรงแดง ถั่วขาว ฝาดดอกแดง สำมะง่า จาก เถาถอบแถบ เป็นต้น บริเวณที่โล่งซึ่งเป็นดอนตะกาดซึ่งได้รับอิทธิพลความเค็มของน้ำทะเลท่วมถึงแต่ไม่ท่วมต่อเนื่องกันทุกปี พบพืชล้มลุกพวก ชะคราม ผักเบี้ย หญ้าปราบน้ำเค็ม หญ้าขม เป็นต้น
สังคมพืชป่าบก ประกอบด้วย


• ป่าชายหาด พบตามชายหาดบริเวณที่น้ำไม่ท่วมจนถึงบริเวณเชิงเขา พื้นดินเป็นทราย กรวด และโขดหิน พันธุ์ไม้สำคัญที่พบได้แก่ สนทะเล โพทะเล กระทิง เม่า หูกวาง เกด มะนาวผี เตยทะเล ผักบุ้งทะเลเป็นต้น
• ป่าเบญจพรรณ ส่วนใหญ่ขึ้นบนเขาหินปูน พรรณไม้ที่ขึ้นหลายชนิดมักเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นเฉพาะแห่ง เช่น จันทน์ผา จันทน์ชะมด โมกเขา ทะลายเขา และแก้วผา เป็นต้น ไม้ยืนต้นที่พบมักมีลำต้นแคระแกร็น เนื่องจากพื้นที่เป็นหินปูนมีเนื้อดินน้อย ส่วนบริเวณที่มีการสะสมสารอินทรีย์มากและเนื้อดินหนาในบริเวณหุบเขาและเชิงเขา พันธุ์ไม้ที่ขึ้นจะมีลำต้นสูงใหญ่ แต่มีอยู่เป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยกระจัดกระจาย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ กุ่มน้ำ มะเกลือ พลับดง มะค่าโมง โมกมัน โมกขาว กระดูกไก่ และพลอง เป็นต้น

คำว่า “สามร้อยยอด” นอกจากใช้เป็นชื่ออุทยานแห่งชาติ ชื่อภูเขา ยังใช้เป็นชื่อของพืชด้วย คือ สามร้อยยอด หรือกูดขน แหยงแย้ รังไก่ เป็นพืชใกล้ชิดกับเฟินที่พบทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้และภาคตะวันออก ลำต้นมี 2 ลักษณะ คือ มีทั้งลำต้นที่ทอดนอนเลื้อยไปกับพื้นดินและลำต้นตั้งตรงซึ่งอาจสูงถึงครึ่งเมตร แตกกิ่งก้านสาขาคล้ายสนฉัตร มีใบเล็กๆ ติดอยู่ อวัยวะขยายพันธุ์เกิดเป็นตุ่มห้อยที่ปลายต้น เรียกว่า Cones สามร้อยยอดมักขึ้นตามดินทราย ที่ราบชายเขาที่ได้รับแสงแดดจัดจ้า แต่ชุ่มชื้น ตั้งแต่พื้นที่ราบไปจนถึงระดับความสูงกว่า 1,000 เมตร
บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมีความหลากหลายของสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกซึ่งมีมากถึง 316 ชนิด ประกอบด้วยนกที่อาศัยประจำถิ่นและที่ย้ายถิ่นมาจากที่อื่นตามฤดูกาล และเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทยที่นกกระสาแดง สร้างรังวางไข่ รวมทั้งมีเป็ดแดงอาศัยอยู่ตลอดปี เช่นเดียวกับนกอัญชันอกเทา นกอัญชันคิ้วขาว และนกอีโก้ง
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่พบในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมีน้อยมาก ที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่หากินกลางคืนและสัตว์ที่ขุดรูอยู่ใต้ดินในทุ่ง ได้แก่ เลียงผา เก้ง กระจงเล็ก หมูป่า ลิงลม ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ อีเห็น พังพอนธรรมดา เม่น ชะมด ค้างคาว หนูพุกใหญ่ หนูท้องขาว ค้างคาวมงกุฏมลายู และชนิดที่น่าสนใจที่พบในน่านน้ำชายฝั่งทะเลบริเวณนี้คือ โลมาหัวบาตร สำหรับสัตว์เลื้อยคลานและสะเทินน้ำสะเทินบกที่พบได้แก่ เต่าเหลือง เต่าหับ เต่าดำ กิ้งก่าบินปีกส้ม กิ้งก่าหัวแดง กิ้งก่าสวน จิ้งเหลนบ้าน เหี้ย งูเหลือม งูเห่า งูกะปะ งูสิงธรรมดา งูเขียว คางคกบ้าน เขียดหลังปุ่ม กบหนอง กบน้ำเค็ม อึ่งขาคำ อึ่งบ้าน เขียดบัว และเขียดจิก
จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูล พบปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 45 ชนิด ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุกด้าน ปลานิล ปลาซิว ปลาตะเพียนขาว ปลาไหล ปลาทู ปลาลัง ปลากระบอก ปลากระเบน ปลาตีน กุ้งแชบ๊วย หมึกกล้วย ปูแป้น ปูม้า หอยโข่ง หอยขม หอยแมลงภู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ประเภทอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ผีเสื้อหางติ่งธรรมดา ผีเสื้อเณรจิ๋ว แมลงปอ ยุงน้ำจืด ตั๊กแตนหนวดสั้น จิ้งหรีด มวนแดง และแมงดา เป็นต้น

จุดชมวิวเขาแดง 

อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ไปทางเหนือประมาณ 400 เมตร แล้วเดินเท้าขึ้นยอดเขาแดงอีกประมาณ 320 เมตรเวลาที่เหมาะแก่ การขึ้นชมวิวคือตอนเช้ามืด ประมาณ 05.30 น.เพราะ สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นเหนือขอบทะเลและชม ทัศนียภาพโดยรอบได้ดี
จุดล่องคลองเขาแดง จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร บริเวณท่าน้ำหน้าวัดเขาแดงจะมีเรือจากชาวบ้านเขาแดงไว้บริการ ล่องคลองในราคา 500 บาท/ ลำ/6 คน ซึ่งใช้เวลาเดินทาง ไป – กลับประมาณ 1 ชั่วโมงระหว่างทางสามารถชมธรรมชาติ เขาหินปูนที่สูงชัน (คล้ายคลึงกับกุ้ยหลินเมืองจีน) ป่าชายเลน นกและสัตว์น้ำชายเลน และวิถีชีวิตชาวประมง เวลาที่เหมาะสม ในการล่องเรือคือ 16.00–17.30 น เพราะสามารถชมและถ่ายภาพ ยามพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าในยามเย็น



หาดสามพระยา 

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางเหนือ ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่ สวยงามเงียบสงบ ท่ามกลางดงสนทะเลสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ โดยมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ศาลาพักผ่อน และ ห้องน้ำ – สุขา ไว้บริการ




หาดแหลมศาลา 

อยู่บริเวณบ้านบางปู ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางเหนือ 17 กิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าถึงได้เพียงวัดบางปู การเดินทางไปหาดแหลมศาลาโดยทางเท้าตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาเทียนระยะทาง 530 เมตร หรือทางเรือในอัตราเหมาลำ 400 บาท / 8 คน / ไป – กลับในวันเดียวกัน



ถ้ำพระยานคร 

จากหาดแหลมศาลาเดินขึ้นเขาซึ่งชันไปตามขั้นบันไดอีกประมาณ 430 เมตร ก็จะถึงทางลงถ้ำพระยานคร ภายในถ้ำมี 3 คูหา มีหินงอกหินย้อยเป็นเชิงชั้นเหมือนม่าน บางส่วนก็ หยด ย้อยลงมา เป็นรูปร่างต่างๆ โดยสองคูหามี ปล่องด้านบนส่วนด้านล่างในถ้ำ เป็นป่าต้นไม้ค่อนข้างสูง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) มีพระราชประสงค์ใคร่จะเสด็จประพาส จึงให้นายช่างประจำราชสำนัก สร้างพลับพลาแบบจตุรมุขขนาดย่อมตั้งไว้บนเนินดินกลางถ้ำ พระองค์เสด็จประพาสเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2433 คราวเสด็จประพาสแหลมมลายูและพระราชทานนามพลับพลานี้ว่า “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์”




ทุ่งสามร้อยยอด 

อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่งที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่เกิดขึ้น
เองตามธรรมชาติมีน้ำขังหรือท่วมถึงตลอดปี เป็นแหล่ง ที่มีองค์ประกอบทางชีวภาพ กายภาพและเคมี ที่มีเอกลักษณ์ของระบบซึ่งมีความหลากหลายของ
ชนิดพืชสัตว์ และธาตุอาหาร เป็นที่อยู่อาศัยขยายพันธุ์ ของนกนานาชนิดทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพ จึงเป็นแหล่งที่เหมาะแก่การดูนก





สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์

- ลานกางเต็นท์บริเวณหาดสามพระยา
- ลานกางเต็นท์บริเวณหาดแหลมศาลา

ร้านอาหาร - ร้านอาหาร บริเวณที่ทำการอุทยานฯ
ที่พัก - บ้านมะลิวัลย์
ที่พัก - บ้านจันผา 101
ที่พัก - บ้านริมสน
ที่พัก - บ้านคฤหาสน์
ที่พัก - บ้านคูหา
ที่พัก - บ้านร่มสน
ที่พัก - บ้านแหลมศาลา
ที่พัก - บ้านกาหลง
ที่พัก - บ้านจันผา
ที่พัก - บ้านจันผา
ที่พัก - บ้านกาหลง 102
ห้องประชุมสัมมนา - ห้องประชุม
ห้องน้ำ - ห้องน้ำ (ที่ทำการอุทยานฯ)


ที่มา สำนักอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น