วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง @ ตราด

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง


หมู่เกาะช้างเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยมากกว่า 40 เกาะ ทั้งยังมีเกาะที่เป็นโขดหินกลางทะเลอีกจำนวนมาก โดยมีเกาะช้างเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงของจังหวัดตราด ตั้งอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเกาะช้างและกิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เกาะหลายแห่งมีทิวทัศน์สวยงาม หาดทรายขาว และน้ำทะเลใสสะอาด เช่น เกาะง่าม บางแห่งมีปะการังใต้น้ำที่คงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เช่น เกาะหวาย และหมู่เกาะรัง

ในปี พ.ศ. 2510 จังหวัดตราดได้ให้ นายสมศักดิ์ เผื่อนด้วง ไปทำการสำรวจบริเวณน้ำตกธารมะยม และได้ส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นของน้ำตกธารมะยม ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ให้กรมป่าไม้พิจารณาจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ซึ่งในปี 2516 กรมป่าไม้ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้ง " วนอุทยานน้ำตกธารมะยม " และกรมป่าไม้ได้มีหนังสือให้จังหวัดตราดรับงานจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกธารมะยมไปดำเนินการในปี 2517 ซึ่งในปี 2518 จังหวัดตราดได้ให้ นายทนง โหตรภวานนท์ พนักงานป่าไม้ตรี ไปดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกธารมะยม

ต่อมาคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2524 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2524 ให้ดำเนินการจัดบริเวณเกาะช้างและเกาะกูด จังหวัดตราด เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งให้นายเรืองศิลป์ ประกรศรี นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจหาข้อมูลรายละเอียด ทั้งดำเนินการปรับปรุงวนอุทยานน้ำตกธารมะยม เพื่อยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป จากรายงานข้อมูลการสำรวจตามหนังสือวนอุทยานน้ำตกธารมะยมพบว่า เกาะช้างและเกาะบริวารสภาพทั่วไปมีทิวทัศน์สวยงาม มีน้ำตก และสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ ตลอดจนในอดีตน่านน้ำบริเวณทิศตะวันออกของเกาะช้างได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นในสมัยอินโดจีน กล่าวคือ เรือรบหลวงสงขลา เรือรบหลวงชลบุรี และเรือรบหลวงธนบุรีได้ทำการยุทธนาวีกับเรือรบฝรั่งเศสจำนวน 7 ลำ อย่างห้าวหาญ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2484 วีรกรรมครั้งนี้ได้รับการจารึก ไว้ในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ

เพื่ออนุรักษ์น่านน้ำประวัติศาสตร์และสภาพธรรมชาติของหมู่เกาะในทะเล กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2525 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 เห็นควรจัดตั้งหมู่เกาะช้างเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินเกาะช้างและเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลเกาะช้าง และตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ครอบคลุมพื้นที่ 406,250 ไร่ หรือ 650 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นพื้นน้ำประมาณ 458 ตารางกิโลเมตร หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เป็นอุทยายแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เเล่ม 99 ตอนที่ 197 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2525 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 45 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ 

ในจำนวนกว่า 40 เกาะ ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง มีเกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่ ที่สุดห่างจากแหลมงอบประมาณ 8 กิโลเมตร พื้นที่ทอดยาวจากเหนือลงมาทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 30 กิโลเมตร กว้างประมาณ 14 กิโลเมตร เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามประเทศไทยรองจากเกาะภูเก็ตและเกาะสมุย แต่พื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่ได้ครอบคลุมเกาะช้างทั้งหมด มีบางส่วนที่เป็นส่วนของกิ่งอำเภอเกาะช้าง มีราษฎรอาศัยอยู่ ส่วนในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ส่วนที่เป็นพื้นดินส่วนใหญ่ของเกาะช้างมีลักษณะภูมิประเทศเป็น ภูเขาเกือบตลอดทั้งเกาะ เช่น เขาล้าน เขาจอมปราสาท เขาคลองมะยม เขาสลักเพชร ยอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูง ที่สุดมีความสูง 743 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง


โครงสร้างทางธรณีส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นหินอัคนีในยุคไทรแอสซิกมีช่วงอายุ 195-230 ล้านปีมาแล้ว มีที่ราบตามชายฝั่งทะเลในบริเวณหมู่บ้านสลักเพชร หมู่บ้านสลักคอก หมู่บ้านคลองสน และอ่าวคลอง พร้าว แม่น้ำลำธารในเกาะช้างเป็นคลองสายสั้นๆ ที่น้ำทะเลเข้าถึง ต้นคลองเป็นห้วยน้ำจืดไหลมาจากน้ำตก ซึ่งเป็นสภาพหุบเขาหลังอ่าวต่างๆ ไหลแทรกไปตามบริเวณป่าชายเลนแล้วไหลลงสู่ทะเลรอบๆ คลองที่สำคัญได้แก่ คลองสน คลองมะยม คลองค้างคาว คลองบางเบ้า คลองพร้าว คลองนนทรี เป็นต้น ลำน้ำเหล่านี้ยังก่อให้เกิดน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกธารมะยม น้ำตกคลองพลู น้ำตกคลองนนทรี น้ำตกคีรีเพชร และน้ำตกคลองหนึ่ง นอกจากนี้ชายฝั่งตะวันออกของเกาะ จะมีหาดโคลนและหินเป็นหาดหน้าแคบ ส่วนหาดทางด้านตะวันตก จะเป็นหาดทรายและหิน

ลักษณะภูมิอากาศ

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ได้รับอิทธิพลจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 4,700 มิลลิเมตร ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ ในระยะนี้มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมพื้นที่ ทำให้อุณหภูมิลดลงอากาศหนาวเย็น ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคมถึงเดือนเมษายน ในระยะนี้ดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรไปทางซีกโลกเหนือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนค่อนข้างจะแปรปรวน มีฝนตกน้อยทำให้อากาศร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะในเดือนเมษายน มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส
พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง มีความหลากหลายของพืชพรรณมาก ส่วนใหญ่เป็น ป่าดงดิบชื้น เป็นป่าที่ค่อนข้างห่างจากชายฝั่ง พืชพรรณธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นไม้สกุลพลอง สารภีป่า และไม้ในสกุลหว้า ขึ้นปนอยู่ประปราย พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางนา กระบาก ตะเคียนทอง ทะโล้ พญาไม้ เปล้า หลาวชะโอน เต่าร้าง หวาย เตยย่าน กล้วยไม้ ไผ่ เร่ว กระวาน ฯลฯ มีที่ราบตามชายฝั่งทะเลในบริเวณหมู่บ้านสลักเพชร หมู่บ้านสลักคอก หมู่บ้านคลองสน และอ่าวคลองพร้าว พืชพรรณธรรมชาติที่พบเป็น ป่าชายหาด ลักษณะเป็นป่าโปร่งมีพรรณไม้ขึ้นอยู่ไม่กี่ชนิด เช่น หูกวาง สารภีทะเล เมา เสม็ด เตยทะเล เป็นต้น ตามชายฝั่งที่เป็นดินเลนบริเวณอ่าวและปากคลองลำธารต่างๆ จะพบ ป่าชายเลน พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก โปรงขาว แสม พังกาหัวสุม ถั่วดำ แสม ตะบูน ปอทะเล และตีนเป็ดทะเล และ ป่าพรุ เป็นสังคมพืชที่เกิดขึ้นบริเวณที่มีน้ำขังตลอดปี บริเวณอ่าวสลักคอกและอ่าวสลักเพชร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เหงือกปลาหมอ และกก เป็นต้น

หมู่เกาะช้าง ไม่มีการทับถมของตะกอนโคลนเลนจากแม่น้ำ จึงทำให้หมู่เกาะเหล่านี้มีหาดทรายที่ ขาวสะอาด น้ำทะเลใสสวย และอุดมสมบูรณ์ด้วยสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง เช่น ปะการังก้อน ปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ปะการังแผ่น หอยมือเสือ ดอกไม้ทะเล ปลาสวยงามในแนวปะการัง กัลปังหา สาหร่าย พบได้ในบริเวณเกาะช้างน้อย ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะช้าง เกาะหยวก เกาะมันนอก เกาะคลุ้ม เกาะหวาย เกาะเหลายา เกาะง่าม เกาะรัง เกาะกระ และบริเวณเรือรบหลวงชลบุรี และเรือรบหลวงสงขลาที่จมอยู่ใกล้บริเวณอ่าวสลักเพชร
จากการสำรวจประชากรสัตว์ป่า เมื่อปี 2535 พบว่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างมี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 29 ชนิด ได้แก่ หมูป่า เก้ง ลิงเสน ค่างหงอก ชะมะเช็ด พังพอนธรรมดา ค้างคาว กระรอก และหนู เป็นต้น มี นก ทั้งหมด 74 ชนิด เป็นนกที่มีถิ่นถาวรในประเทศไทยและไม่อพยพย้ายถิ่น 61 ชนิด ได้แก่ นกยางทะเล นกปรอดหน้านวล นกตบยุง นกนางแอ่นแปซิฟิก นกกวัก และนกแก๊ก เป็นต้น เป็นนกอพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว 8 ชนิดได้แก่ นกยางเขียว นกหัวโตทรายใหญ่ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว นกน็อตตี้ นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกกระจี๊ดขาสีเนื้อ นกกระจี๊ดขั้วโลกเหนือ และนกนางแอ่นบ้าน เป็นนกอพยพเพื่อผสมพันธุ์ 2 ชนิด คือ นกแต้วแล้วอกเขียว และนกแต้วแล้วธรรมดา ส่วนนกอพยพผ่านในฤดูกาลอื่นๆ 3 ชนิด คือ นกจับแมลงสีฟ้าท้องขาว นกจับแมลงคอสีน้ำเงินเข้ม และนกกระจี๊ดหัวมงกุฎ นอกจากนี้ยังมี สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน 42 ชนิด ได้แก่ ตะพาบน้ำ ตะกวด เหี้ย งูเหลือม งูสิง งูจงอาง และกบเกาะช้าง (เป็นสัตว์ประจำถิ่นใน ป่าดงดิบชื้นบริเวณเกาะช้างและเกาะใกล้เคียง)

สถานที่ท่องเที่ยว

น้ำตกธารมะยม 

น้ำตกธารมะยม อยู่หลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติที่ กช.1 (ธารมะยม) เดินผ่านสวนเข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี ๔ ชั้น ชั้นที่ ๓ เป็นชั้นที่สวยที่สุด รัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เคยเสด็จประพาสมายังน้ำตกนี้ โดยมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. สลักอยู่ที่หน้าผาน้ำตกชั้นบน


น้ำตกคลองพลู 

น้ำตกคลองพลูอยู่ห่างจากชุมชนอ่าวคลองพร้าวประมาณ 3 กิโลเมตร ไปตามถนนที่จะไปหาดไก่แบ้ เลี้ยวเข้าไปอีก 2 กิโเมตร จะถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กช.4 (คลองพลู) จากนั้นเดินเท้าเข้าสู่น้ำตกประมาณ 500 เมตร น้ำตกคลองพลูเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่มีน้ำตลอดปี ตกจากหน้าผาสูงลงมาเป็นเส้นสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง มีอยู่ 3 ชั้น ชั้นแรกสุดสูงประมาณ 40 เมตร ชั้นต่อไปอยู่ติดกัน สูงกว่าชั้นแรกมาก สภาพป่ารอบๆ สมบูรณ์ดีมาก มีธารน้ำแยกจากคลองพลูหลายสาย มีแอ่งน้ำให้เล่นประมาณ 2–3 จุด มีน้ำไหลตลอดปี 
นอกจากนี้สภาพโดยทั่วไปยังปกคลุมไปด้วยป่าดิบซึ่งเป็นป่าดั้งเดิมของพื้นที่ มีสภาพร่มรื่น อากาศเย็นสบาย เล่าต่อๆ กันมาว่า น้ำตกคลองพลู แต่เดิมน่าจะเรียกว่า "คลองภู" เพราะมาจากชื่อ "ภูผาเมฆสวรรค์" ซึ่งเป็นชื่อของยอดเขาในบริเวณนี้ และยังกล่าวกันอีกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเคยเสด็จประพาสถึง 2 ครั้ง


เกาะรัง 

เป็นเกาะเล็กๆที่ตั้งอยู่ในหมู่เกาะรัง ซึ่งอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เป็นเกาะที่มีสีสันของท้องทะเล อันสวยงามน้ำทะเลใสๆ ทำให้มองเห็นสีสันของแนวปะการังและโขดหินใต้น้ำ มีหาดทรายอันขาวละเอียด บริเวณรอบๆหมู่เกาะรัง มีเกาะน้อย ใหญ่อยู่จำนวนมาก ได้แก่ เกาะรังใหญ่ เกาะรังเล็ก เกาะกระ เกาะเทียน เกาะทองหลวง เกาะยักษ์ เกาะสามพี่น้อง เกาะมะปริง เกาะตุ๊น และเกาะกำปั่น เป็นต้น ซึ่งเกาะต่าง ๆ เหมาะแก่การดำน้ำดูปะการังท่ามกลางฝูงปลาแหวกว่าย เกาะรัง จะถูกแบ่งออกเป็นสองเกาะเล็กๆ แยกกัน คือ เกาะรังฝั่งทางด้านเหนือ เรียกว่าหาดศาลเจ้า ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดดำน้ำเกาะยักษ์ ซึ่งเกาะฝั่งนี้มีหาดทรายที่ขาวละเอียด น้ำใส cต่ไม่มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ และเกาะรัง อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กช.5 (เกาะรัง) มีแหล่งน้ำจืด มีที่พักของอุทยนาน สามารถกางเต็นท์พักค้างแรมได้


เกาะง่าม 

เกาะเล็กๆ สองลูกที่ถูกสันทายเชื่อมเข้าหากัน เกาะง่ามมีพื้นที่ประมาณ 319 ไร่ สันทรายที่เชื่อมเกาะเข้าหากันมีความยาวประมาณ 100เมตร กว้างประมาณ 25 เมตร มีทิวมะพร้าวที่ขึ้นเรียงรายไปตลอดแนวสันทรายเชื่อมระหว่างเกาะเหนือและเกาะใต้เข้าหากัน ลักษณะหาดทรายโค้งเว้าเป็นรูปครึ่งวงกลม ทั้งสองข้างมีหาดทรายขาวสะอาดยาวประมาณร้อยเมตรอยู่ทั้งสองฟาก ลักษณะคล้ายเกาะพีพีดอนในทะเลกระบี่ แต่เกาะง่ามมีสันทรายและตัวเกาะขนาดเล็กกว่า นักท่องเที่ยวจึงให้ฉายาว่าพีพีน้อยแห่งทะเลอ่าวไทย
นอกจากจะเพลิดเพลินกับการเล่นน้ำทะเลที่เหมือนสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ทั้งสองอ่าวแล้ว ยังมีเส้นทางเดินไปชมเกาะ ลัดเลาะไปตามโขดหิน ข้ามเนินเขาสูงประมาณ 80 เมตร ลงไปบริเวณด้านหน้าของเกาะใต้ มีหาดทรายยาวประมาณ 50 เมตร ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย บริเวณหาดนี้เต็มไปด้วยปะการังชนิดต่างๆ คล้ายกับสุสานปะการัง บริเวณชายหาดแห่งนี้ยังเป็นจุดชมวิวมองเห็นเกาะน้อยใหญ่ในทะเลตราดได้ เช่น เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะหวาย เกาะเหลายา ฯลฯ

จุดชมทิวทัศน์ไก่แบ้ 

จุดชมทิวทัศน์ไก่แบ้ เป็นจุดชมวิวที่ใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดของเกาะช้าง สามารถมองเห็นเกาะที่เรียงรายจำนวน 4 เกาะได้แก่ เกาะมันใน เกาะมันนอก เกาะปลี และเกาะหยวก เป็นจุดที่มองเห็นพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุด


การเดินทาง

มีเรือเฟอร์รี่ออกทุกวัน จากท่าเรือแหลมงอบไปขึ้นที่ท่าเรือด่านเก่า ที่เกาะช้าง อัตราค่าโดยสารไปกลับราคาคนละ 140 บาท รถยนต์ 4 ล้อ ไปกลับ คันละ 180 บาท ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาที เรือลำหนึ่งบรรทุกรถยนต์สี่ล้อได้ประมาณ 25-28 คัน มีเรือออก เที่ยวไป ตั้งแต่เวลา 06.00–19.00 น. เที่ยวกลับ เวลา 06.00–19.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 039-538196

ที่ตั้งและแผนที่

สถานที่ติดต่อ : 23/7 หมู่ 3 ต.เกาะช้าง อ.กิ่งอำเภอเกาะช้าง จ.ตราด 23170
โทรศัพท์ : 039-510928 , 082 625 0300
โทรสาร : 039-510928
อีเมล : kochang.dnp@gmail.com
อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
หมายเหตุ เมื่อชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้วกรุณาพกบัตรค่าบริการติดตัว ขณะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบ
แผนที่ คลิกที่นี่

สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์

ที่พัก - ลานกางเต็นท์
อื่นๆ - อาคารค่ายเยาวชน
อื่นๆ - ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
ถนน / ทางเดิน – เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
ร้านค้าสวัสดิการ (กาแฟ น้ำดื่ม ขนม) เปิดบริการทุกวันเวลา 08.00 น -16.30 น.





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น