วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พาเที่ยว 5 ที่ @เมืองช้าง สุรินทร์

สุรินทร์


หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์


ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง (Surin Elephant Village) บ้านตากลาง เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับช้าง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลางแต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ณ บ้านตากลาง จ. สุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก   ชาวบ้านตากลาง ดั้งเดิมเป็น ชาวส่วย (กูย) หรือ กวย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านตากลาง ไม่สามารถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้าง (Thailand Elephant show) ของจังหวัดทุกปี   ลักษณะการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง เหมือนการเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังจะได้สัมผัสการดำรงชีวิตของ ชาวส่วย พร้อมทั้งจะได้พบปะพูดคุยกับหมอช้าง ที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา รวมทั้งยังสามารถเดินทางชมจุดบริเวณที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมารวมกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนหย่อนใจ และชวนให้ศึกษาในเชิงของธรรมชาติด้วย   ศูนย์คชศึกษา (Thailand Elephant Trip) หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จ.สุรินทร์ เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว ซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้าง โดยมีทั้งบ้านเรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่าควาญช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณ เป็นวิถีชีวิตที่น่าทึ่งมาก ๆ ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนเราก็จะพบเห็นช้างอยู่แทบทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละตัวก็เป็นช้างแสนรู้น่ารัก ไม่ดุร้าย  และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน  เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช้างกับคนอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข   สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง วังทะลุ เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกัน ปราสาทนางบัวตูม   ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่วัดปทุมศิลาวารีปราสาท อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลง 3 หลัง  และตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดียวกัน  วัดพระพุทธบาทพนมดิน เป็นที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประเพณีการแข่งเรือยาวประจำปี ระหว่างเดือนตุลาคมของทุกปี ณ  ลำน้ำมูล ฝายน้ำล้นบ้านกุดมะโน เป็นแหล่งน้ำที่มีทิวทัศน์สวยงามในฤดูฝน เมื่อน้ำลดจะเห็นหาดทรายที่สวยงาม

แผนที่คลิกที่นี่



โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน


ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลังเรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม (ธม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่) ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาสร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม ตัวปราสาทตาเมือนธม หันหน้าไปทางทิศใต้ ผิดแผกจากแห่งอื่นซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รับกับเส้นทางที่มาจากเขมรต่ำผ่านมาทางช่องทางตาเมือนนี้ ปราสาทตาเมือนธมประกอบด้วยปราสาทประธาน มีอาคารอื่น คือปรางค์ก่อด้วยหินทรายสองหลัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน มีบรรณาลัยศิลาแลงสองหลัง และนอกระเบียงคดทางทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดเล็กสองสระ ปราสาทแห่งนี้อยู่ใกล้เขตชายแดนเขมรมากที่สุด การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาทเพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยนัก ปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม ประมาณ 750 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบและมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือหนึ่งสระ โดยเชื่อว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล รักษาพยาบาลของชุมชนหรือตามรายทางที่เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งนิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทตาเมือน(บายกรีม)อย่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ประมาณ 390 เมตร เป็นปราสาทที่เล็กที่สุด ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา คือที่พักสำหรับคนเดินทาง กลุ่มปราสาทตาเมือนนี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มปราสาทที่มีความสมบูรณ์ในด้านของการอำนวยประโยชน์ แก่ผู้คนที่ใช้เส้นทางผ่านช่องเขา ซึ่งไม่ปรากฏในถิ่นอื่น การที่มีกลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ในบริเวณนี้เป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นว่า ในอดีตเส้นทางช่องเขาตาเมือนนี้คงจะมีชุมชนหรือเป็นเส้นทางผ่านช่องเขาสำคัญของภูมิภาค

แผนที่คลิกที่นี่



ปราสาทศีขรภูมิ


ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง ตั้งอยู่ข้างวัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่งดงามที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระธิดาทั้ง 3 (มี หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นต้น) ได้เดินทางมาเยือนเมื่อ มกราคม - กุมภาพันธ์ 2472 (นับอย่างใหม่ต้องปี พ.ศ. 2473) และได้ถูกรวมเข้ากันกับอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือนและปราสาทศีขรภูมิ จากลักษณะทางศิลปกรรม สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย และในพุทธศตวรรษที่ 22 มีการบูรณะเพิ่มเติมที่องค์ปราสาทแถวหลังฝั่งทิศใต้ เป็นแบบศิลปะล้านช้าง และยังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทหลังนี้ ปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำนักเรียนนายร้อย จปร. มาศึกษาที่โบราณสถานแห่งนี้ และก็ได้มีการบูรณะปราสาทศีขรภูมิ ให้ดูงามเด่นเป็นสง่าน่าภาคภูมิใจแก่แขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนเมืองปราสาทหินโบราณแห่งนี้ ปราสาทศีขรภูมิ มีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ เป็นปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยตัวฐานก่อด้วยศอลาแลงกว้าง 25 เมตร ยาว 26 เมตร สูง 1.5 เมตร โดยมีคูน้ำกว้าง 125 เมตร ล้อมรอบสามด้าน โดยเว้นด้านตะวันออกอันเป็นทางเข้าไว้ ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร ทับหลังเป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกร ทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุข ภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมาโดยทับหลังชิ้นนับเป็นทับหลังที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

แผนที่คลิกที่นี่



หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านจันรม


หมู่บ้านทอผ้าไหม บ้านจันรม ตั้งอยู่ที่ตำบลตาอ็อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ของอำเภอเมือง ตามถนนสายสุรินทร์-สังขะ ทางหลวงหมายเลข 2077 ประมาณกม.ที่ 9 เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในด้านแหล่งทอผ้าไหมพื้นเมือง และแหล่งผลิต เครื่องประดับเงิน ปัจจุบันเป็นแหล่งจำหน่ายหัตถกรรมทั้ง 2 ประเภท นี้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด  ที่หมู่บ้านนี้มีการปลูกหม่อน และเลี้ยงไหมกันเองแล้วนำมาทอเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายและสีแบบ โบราณ และยังเป็นหมู่บ้านที่ทำหัตถกรรมเครื่องจักสานอีกด้วย จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมานานและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมานานจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่น่าสนใจยิ่ง กรรมวิธีการทอจังหวัดสุรินทร์นิยมนำเส้นไหมขั้นหนึ่งหรือไหมน้อย (ภาษาเขมร เรียก “โซกซัก”) มาใช้ในการทอผ้า  ในจังหวัดสุรินทร์มีการทอผ้ามากมายหลาย ผ้านุ่งหญิง และผ้านุ่งชาย มีหลายลวดลายแบ่งออกเป็นหลากหลายลายเช่นมัดหมี่โฮล หรือ จองโฮล (จองเป็นภาษาเขมร หมายถึง ผูกหรือมัด) หรือ ซัมป็วตโฮล   ผ้าโฮลเป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์  ผ้ามัดหมี่โฮลถือเป็นลายเอกลักษณ์ของลายผ้าไหมมัดหมี่ จังหวัดสุรินทร์  “โฮล” เป็นคำในภาษา เขมร     เป็นชื่อเรียก กรรมวิธีการผลิตผ้าไหมประเภทหนึ่งที่สร้างลวดลายขึ้นมาจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีสันและลวดลายต่างๆก่อน แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งตรงกับคำว่า   “ผ้าปูม” ในภาษาไทย “มัดหมี่”ในภาษาลาว และคำว่า IKAT (อิ-กัด) ซึ่งเป็นลำดับที่ภาษาอินโดนีเซีย-มาลายู แต่ชาวตะวันตกมักรู้จักผ้ามัดหมี่ของมาเลย์-อินโดนีเซีย   และเรียก IKAT ตามไปด้วย ผ้าโฮลมี 5 สี ได้แก่ สีดำ, แดง,เหลือง,น้ำเงิน และเขียว  สีเหล่านี้ได้จากการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เนื้อผ้ามักมี 2 สี ด้านหน้าเป็นสีอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นสีเข้มกว่า ผ้าโฮลเปราะห์ (ลายโฮลผู้ชาย) เป็นผ้ามัดหมี่ของกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรบริเวณอีสานใต้ มีลวดลายและสีสันต่าง ๆ กัน ใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบนของผู้ชาย ในสมัยโบราณเรียก     “ผ้าปูมเขมร” ราชสำนักใช้เป็นผ้าพระราชทานให้ข้าราชบริพารตามตำแหน่ง เป็นผ้าขนาดใหญ่ กว้างยาวมาก มักมีเชิง คล้ายผ้าปาโตลาของอินเดีย บางทีเรียก ผ้าสมปัก หรือ ผ้าสอง  ปัก ภาษาเขมรหมายถึงผ้านุ่ง ซึ่งจะพระราชทานให้ตามยศ เช่น สมปักปูม สมปักกรวยเชิง สำหรับข้าราชการชั้นสูง ผ้าสมปักริ้ว ผ้าสมปักลาย สำหรับข้าราชการระดับเจ้ากรมและปลัดกรม ผ้าสมปักล่องจวนที่มีพื้นสีขาวสำหรับพราหมณ์นุ่ง ได้ยกเลิกไปในสมัยราชการที่ 5

แผนที่คลิกที่นี่



ห้วยเสนง



เขื่อนห้วยเสนง เป็นเขื่อนดิน อยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 7 กิโลเมตร เขื่อนห้วยเสนงสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2520 ปิดกั้นห้วยเสนงและลำน้ำอำปึลที่บ้านโคกจ๊ะ-บ้านถนน-บ้านเฉนียง ที่รับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำอำปึลเป็นอ่างแฝดทางด้านเหนือเขื่อนซึ่งเป็นฝ่ายส่งน้ำและบำรุง รักษาที่ 1 ชลประทานสุรินทร์ จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ คำว่าห้วยเสนง มาจากคำว่า “แสน็ง” เป็นภาษาพื้นบ้านหรือภาษาเขมรถิ่นบ้านเรา กรมชลประทาน  ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการชลประทานห้วยเสนง เป็นโครงการแรกของจังหวัดสุรินทร์  ในปี พ.ศ. 2481 และเริ่มงานก่อสร้างในปี พ.ศ. 2483 งานชลประทานในจังหวัดสุรินทร์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการชลประทานประเภทเก็บกักน้ำด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำและฝาย  ในปี พ.ศ. 2527 กรมชลประทานได้จัดตั้งโครงการชลประทานสุรินทร์  เป็นหน่วยงานในสังกัดของกรมชลประทาน  หัวงานโครงการชลประทานสุรินทร์ตั้งอยู่ที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง หมู่ที่ 2 บ้านทำเนียบ ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  เขื่อนห้วยเสนงมีความสูงจากท้องน้ำ 20 เมตร สันเขื่อนยาว 4.4 กิโลเมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน เขื่อนห้วยเสนงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของชาวสุรินทร์มาเป็นเวลานาน ได้ชื่อว่าทะเลสุรินทร์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสวรรค์ชายหาดของคนชาวสุรินทร์ นอกจากนี้บนสันเขื่อนมีสันที่กว้างออกคล้ายแหลมไปซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักประทับแรมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือ เรือนรับรองที่ประทับ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เมื่อครั้งเสด็จประพาส ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งมีเขตพระราชฐานอยู่ด้านใน และมีจุดชมวิวให้ชมอีกด้วย และยังเป็นที่ประทับรับรองพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ครั้นยังทรงพระชนม์) ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดอีสานใต้ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5-6 แยกซ้ายมือไปทางถนนริมคลองชลประทาน มีป้ายชื่อว่า โครงการชลประทานสุรินทร์ สำนักชลประทานที่ 8 ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

แผนที่คลิกที่นี่

ขอบคุณ ที่มา ททท





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น