วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พาเที่ยว 8 ที่ @เมืองยศ ยโสธร

เที่ยวเมืองยศ ยโสธร



1.ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า


บริเวณคุ้มบ้านสิงห์ท่า เป็นย่านเมืองเก่าที่ปรากฏนามอยู่ในประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองปัจจุบัน บริเวณนี้ยังคงมีตึกแถวโบราณที่มีรูปทรงและลวดลายงดงามและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี เหมาะแก่การท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง ในอดีตยโสธรมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคทวารวดี โดยมีบันทึกในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าราชวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าแห่งเมืองเวียงจันทน์ ท้าวหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิตพรหม และท้าวมุม พร้อมด้วยไพร่พลอพยพไปอาศัยกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อมาถึงดงผีสิงห์ เห็นทำเลที่ตั้งเหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐานจึงสร้างเมืองขึ้นที่บ้านสิงห์ท่า (เมืองสิงห์ท่า)และยกฐานะเป็นเมืองยโสธรในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยโสธรถูกรวมเข้ากับกองหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือมีเมืองอุบลราชธานี เป็นเมืองเอก เรียกว่า มณฑลลาวกาว ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2456 ยโสธรกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี และในปี พ.ศ. 2515 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดลำดับที่ 71 ของประเทศไทย “บ้านสิงห์ท่า”เป็นย่านการค้าตั้งแต่สมัยโบราณและได้เจริญขึ้นเมื่อสมัยฝรั่งเศสเข้ามามี อิทธิพลมากในภูมิภาคนี้ในช่วงนั้นเองผู้ที่มีฐานะดี มีการนำเข้าช่างฝีมือจากเวียดนามจำนวนมากเข้ามาสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนมีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีนผสมยุโรปที่งดงาม ปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นบนสองข้างทาง ถนนศรีสุนทร นครทุม อุทัยรามฤทธิ์ และ วิทยธำรง บางแห่งยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก บอกถึงบรรยากาศของความเป็นอดีต ขณะที่อีกหลายแห่งถูกปล่อยให้รกร้างขาดคนอาศัย สร้างเสน่ห์ให้บ้านสิงห์ท่าสวยงามมาจนทุกวันนี้  เที่ยวชมเมือง  จากความเป็นมาของเมืองนี้ ปัจจุบันยังคงเห็นรูปรอยความเจริญได้ที่ชุมชนบ้านสิงห์ท่า ชาวบ้านในชุมชนล้วนถ้อยทีถ้อยอาศัย อยู่อย่างเรียบง่ายและสงบ มี ตึกแถวโบราณ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ยุคสมัยเดียวกับที่จังหวัดภูเก็ต ถนนรอบบริเวณย่านสิงห์ท่า เป็นทางลัดเลาะเชื่อมต่อถึงกันระหว่างชุมชน ตลาด โรงเรียน รวมถึงวัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธทั้งหลาย ยังมี ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนดูตระการตา ในย่านนี้เป็นแหล่งทำปลาส้มและลอดช่องยโสธร ของฝากชื่อดังที่ไม่ควรพลาดชิมอีกด้วย

แผนที่คลิกที่นี่



2.สวนสาธารณะพญาแถน

สวนสาธารณะพญาแถน สถานที่ท่องเที่ยว ยโสธร มีพื้นที่ประมาณ 18 ไร่ 2 งาน กับอีก 57 ตารางวา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร ถนนแจ้งสนิท หรือริมทางหลวงมายเลข 23 สวนสาธารณะพญาแถนมีพื้นที่ ติดกับ อ่างเก็บน้ำลำทวน สถานที่แห่งนี้ ทางจังหวัดยโสธร ได้จัดให้เป็นสวนสาธารณะ สำหรับให้ประชาชน ได้พักผ่อนหย่อนใจ มีเวทีกลางแจ้งสำหรับ ไว้ให้แสดงกิจกรรมกลางแจ้ง มีสนามเด็กเล่น และสวนสุขภาพ ที่สำคัญที่ สวนสาธารณะพญาแถน ยังเป็นสถานที่ จัดงานประจำปีของจังหวัดยโสธร ซึ่งก็คือ การจัดงานบุญบั้งไฟ ที่ชาวบ้าน มีความเชื่อว่าเป็นการถวายพญาแถน เพื่อฝนฟ้าจะได้ตกถูกต้องตามฤดูกาล นอกจากจะใช้เป็นที่จัดงานบุญบั้งไฟแล้ว มีงานแข่งเรือสั้น และงานเทศกาล วันสงกรานต์ ของทางจังหวัดอีกด้วย สวนสาธารณะพญาแถน ลักษณะโดยทั่วไปของ สวนสาธารณะพญาแถน บริเวณรอบๆ สวน ประกอบไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับ ต่างๆ มากมายหลายชนิด อีกทั้งยังมีลำน้ำเล็กๆ ไหลล้อมรอบพื้นที่นับได้ว่าเป็น สถานที่ท่องเที่ยว ยโสธร อีกสถานที่หนึ่ง เป็นสวนสาธารณะตั้งอยู่ในบริเวณ เขตเทศบาลเมืองยโสธร นักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชน นิยมมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจาก บริเวณโดยรอบของ สวนสาธารณะพญาแถน มีความร่มรื่น เหมาะสำหรับ พักผ่อนหย่อนใจ ที่สำคัญ สวนสาธารณะพญาแถน ยังเคยได้รับรางวัล สวนสาธารณะดีเด่น ประจำภาค 3 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในปีพุทธศักราช 2525 อีกด้วย จากข้อมูลของทุกปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่ได้มาเที่ยวชมประเพณีบุญบั้งไฟปีละหนึ่งครั้ง แล้วนักท่องเที่ยวก็จะเดินทางกลับ ส่วนราชการ เอกชนและประชาชนจึงคิดว่าควรจะได้มีแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับบุญบั้งไฟด้วย จึงร่วมกันก่อสร้าง “วิมานพญาแถน อนุสรณ์สถานตำนานบุญบั้งไฟ” ริมฝั่งลำห้วยทวนที่ต่อเชื่อมกับสวนสาธารณะพญาแถน โดยยึดถือตามความเชื่อเรื่อง “พญาคันคาก รบกับพญาแถน” จากตำนานบุญบั้งไฟ “วิมานพญาแถน” จะประกอบด้วยอาคารพญา คันคาก อาคารพญานาค ตลอดจนจะจัดสร้าง อนุสาวรีย์ ของ “พระสุนทรราชวงศา” ผู้สร้างเมืองยโสธรและเป็นเจ้าเมืองคนแรก อนุสรณ์สถานแห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นรวมทั้งเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น อีกทั้งยังสามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีได้มากขึ้นอีกด้วย

แผนที่คลิกที่นี่



3.ภูถ้ำพระ

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านกุดแห่  หรือกุดแห ตำบลกุดเชียงหมี ห่างจากอำเภอเลิงนกทา 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 212 และห่างจากอำเภอเมือง 85 กิโลเมตร ที่เรียกว่า “ภูถ้ำพระ” เนื่องจากมีพระพุทธรูปอยู่ในถ้าจำนวนมาก ล้วนแต่เป็นพระพุทธรูปโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น บนเขาลูกนี้นอกจากจะมีบรรยากาศร่มรื่นไปด้วยป่าไม้หนาทึบแล้ว  ภูถ้ำพระ เป็นถ้ำใหญ่กว้างประมาณ 3 วา ยาวประมาณ 8 วา ตั้งอยู่ชะง่อนภูด้านทิศใต้ มีทางเข้าไปตามซอกหิน ซึ่งตั้งสูงสุดตระหง่านอยู่รอบ ๆ เป็นอุโมงค์ จากปากถ้ำเลยไปทางทิศเหนือ สามารถเดินลอดไปได้อย่างสบาย ถ้ำพระนี้มีธรรมชาติ เป็น 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปซึ่งตั้งเรียงรายอยู่เป็นแถว ๆ และมี พระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระกัจจายนะ 2 องค์ สร้างสมัยอาจารย์ดี ฉันโน อยู่ในถ้ำนี้อย่างงดงาม ภูถ้ำพระ เป็นพื้นที่ภูเขาขนาดเล็ก เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีป่าไม้เบญจพรรณขึ้นอยู่ทั่วไปค่อนข้างสมบูรณ์ ให้ความ ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำห้วยหลายแห่ง เสาหินลักษณะคล้ายแหล่งท่องเที่ยวภูผาเทิบ และมีจุดชมวิวเป็นแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม ใกล้ทางขึ้นจะมีซุ้มประตูอิฐก่อเป็น “ภูโง” ชาวบ้านเรียกประตูโขง ซึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือของ ภูถ้ำพระ ไปไกลประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง ความศักดิ์สิทธิ์ของภูถ้ำพระที่ได้เล่าสืบทอดกันต่อมาคือ หากชาว บ้านบริเวณนั้นจะออกหาของป่า ต้องมาที่ถ้ำแห่งนี้เพื่อสักการะ แล้วจะมีโชคในการทำมาหากินและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง •ถ้ำพระ •ถ้ำเกลี้ยง •ถ้ำพรมบุตร •ถ้ำเค็ง •ถ้ำเกีย ( ค้างคาว) •ลานงูซวง •หน้าผา •อ่างเรือ •เจดีย์พระอาจารย์ดี ฉนฺโน 

แผนที่คลิกที่นี่



4.พระธาตุก่องข้าวน้อย

ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5x5เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง เชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น พระธาตุก่องข้าวน้อยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อยกลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงว่าข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดจึงได้สติคิดสำนึกผิดที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต นอกจากนี้ที่บริเวณบ้านตาดทอง กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียง ธาตุก่องข้าวน้อย หรือที่นิยมเรียกกันว่า พระธาตุก่องข้าวน้อย หรือ พระธาตุบ้านทุ่งสะเดา เป็นเจดีย์เก่าแก่ศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร อนึ่ง ชื่อที่ถูกต้องของธาตุองค์นี้ ควรจะเรียกว่า "ธาตุก่องข้าวน้อย" มากกว่า "พระธาตุก่องข้าวน้อย" เพราะภายในบรรจุอัฐิบุคคลธรรมดา มิใช่เป็นอัฐิพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเช่นพระธาตุ หรือพระบรมธาตุทั่วไป 

แผนที่คลิกที่นี่



5.พระธาตุกู่จาน

พระธาตุกู่จาน ตั้งอยู่ภายในวัดบ้านกู่จานเป็นปูชนียสถานสำคัญ ประชาชนชาวเมืองยโสธรและจังหวัดใกล้เคียงต่างสักการะบูชา ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมรูปทรงคล้ายพระธาตุพนมแต่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนของฐานล่างรูปบัวคว่ำบัวหงายเตี้ยๆ รองรับฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมเรียบต่อด้วยทรงบัวเหลี่ยม ประดับตกแต่งด้วยลวดลายประณีตสวยงามตามโบราณ และยอดพระธาตุทรงเหลี่ยมรองรับฉัตรซึ่งเป็นยอดบนสุด จากหลักฐานน่าจะสร้างขึ้นตามคตินิยมในการสร้างพระธาตุทั่วไป คือ เพื่อการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ละปีจะมีการจัดพิธีสรงน้ำเพื่อรักษาประเพณีที่ดีงามเอาไว้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม องค์พระธาตุกู่จาน กว้าง 5.10 เมตร สูง 15 เมตร ที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่บ้านงิ้ว กลางลานวัดกู่จาน ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งดูลักษณะแล้วคล้ายคลึงกับองค์พระธาตุพนม ต่างกันเพียงขนาดซึ่งพระธาตุกู่จานมี ขนาดเล็กกว่า ความสำคัญต่อชุมชน :  เป็นที่สักการะของชาวเมืองยโสธรและจังหวัดใกล้เคียง ทุกๆ ปี ชาวตำบลกู่จานจะนำน้ำอบ น้ำหอมไป ทำพิธีสรงน้ำพระธาตุในช่วงเช้าของวัน เพ็ญ เดือน 6 ตอนบ่ายจะไปทำพิธีสรงน้ำ "กู่" หลังจากนั้นจะพากันไปที่หนองสระพัง เพื่อนำน้ำที่หนองสระพังมาทำพิธี สรงน้ำพระธาตุและใบเสมา ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวนี้ ต้องกระทำเป็นประจำทุกปี มีความเชื่อว่าหากไม่ทำพิธีดังกล่าวแล้วจะทำให้ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านกู่จานจึงได้ถือปฏิบัติพิธีนี้เป็นประจำ 

แผนที่คลิกที่นี่



6.พระพุทธบาทยโสธร

วัดพระพุทธบาทยโสธรโบราณสถานสำคัญที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่บนเนินทรายริมฝั่งแม่น้ำชีทัศนียภาพสวยงามสงบร่มเย็น ได้แบ่งสัดส่วนเป็นเขตโบราณสถานและโบราณวัตถุชัดเจน ภายในได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปปางนาคปรก และศิลาจารึก นับว่าเป็นสิ่งมงคลที่ประชาชนหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้บูชาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมีเจดีย์วัดพระพุทธบาทยโสธร ชั้นแรกมีการจัดแสดงเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวอีสานครั้งอดีต และเป็นห้องสมุดสำหรับค้นคว้าพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก ชั้นที่ 2 จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนบูรพาจารย์ ส่วนชั้นสุดท้ายได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุประดิษฐานในบุษบกแกะสลักสีทอง นอกจากนี้พระอุโบสถวัดยังประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย วัดพระพุทธบาทยโสธรแห่งนี้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท โดยพื้นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเป็นเนินทรายขาวสูงงอกขึ้นกลางพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชีนับเป็นโบราณสถานอันล้ำค่าของจังหวัด นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกันยังพบพระพุทธรูป ศิลาแลงปางนาคปรกหินทราย (หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอก) และศิลาจารึกหินทราย (สูง 1 เมตรกว้าง 50 เซนติเมตร) ข้อความบนศิลาจารึกที่เป็นอักขระขอมผสมบาลีนั้น มี สภาพลบเลือนจนไม่สามารถอ่านได้อย่างสมบูรณ์ แต่พอจะถอดความได้ว่าโบราณวัตถุทั้ง 3 นี้ พระมหาอุตตปัญญาและสิทธิวิหาริก (ผู้ศรัทธาหรือลูกศิษย์) นำมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ.1378  เสนาสนะ ที่สำคัญภายในวัดเจดีย์ 8 เหลี่ยมทรงระฆังคว่ำสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ภายในเป็นที่บรรจุของพระบรมสารีริกธาตุ และ หุ่นขี้ผึ้งของบูรพาจารย์ จำนวน 8 องค์พระอุโบสถมีความงดงามตามแบบศิลปะประยุกต์ เน้นความเรียบง่ายของสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการทาสีของอาคาร ส่วนใหญ่ในวัดด้วยสีขาวล้วน เมื่อสะท้อนกับแสงแดดในเวลาต่างๆจะให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันไป  ภายในประดิษฐานพระประธานที่เจียระไนจากหยกขาวขนาดหน้าตักกว้าง 2.31เมตร สูง 3.7 เมตร ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปหยกขาวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

แผนที่คลิกที่นี่



7.วิมานพญาแถน (พญาคันคาก)


ยโสธร เป็นจังหวัดที่มีประเพณีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวยโสธร ซึ่งมีความเชื่อว่าโลกนั้นประกอบด้วย โลกมนุษย์ โลกเทวดา และโลกบาดาล โดยโลกมนุษย์อยู่ภายใต้อิทธิพลของโลกเทวดาซึ่งขาวอีสานเรียกเทวดาว่าพญาแถน ซึ่งพญาแถนมีอิทธิพลต่อ ฝน ฟ้า ลม หากมนุษย์ทำให้พญาแถนโปรดปรานหรือพอใจ ก็จะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  จึงเกิดพิธีการบูชาพญาแถนโดยการใช้บั้งไฟ เพื่อแสดงการเคารพและเป็นการขอฝนจากพญาแถน อันเป็นที่มาของประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธรอันโด่งดัง

แผนที่คลิกที่นี่



8.พระธาตุอานนท์ วัดมหาธาตุ


วัดมหาธาตุ ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองยโสธรมาตั้งแต่แรกสร้างเมือง ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ซึ่งภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระพุทธปรูปบูชาประจำเมืองที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย , พระธาตุอานนท์ พระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์แห่งเดียวในประเทศไทย และหอไตรกลางน้ำที่มีศิลปะงาม
หรือพระธาตุยโสธร ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน ร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1218 ผู้ก่อสร้างคือ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ ชาวเวียงจันทน์ กับ เอียงเวธา ชาวขอม เมื่อสร้างเสร็จจึงอัญเชิญพระอัฐิของ พระอานนท์ มาบรรจุไว้ ซึ่งพระอัฐิของพระอานนท์ที่นำมาบรรจุใน พระธาตุอานนท์ นั้น ถูกบรรจุไว้ในผอบ ชั้นนอกเป็นหีบเงิน 3 ชั้น ชั้นถัดไปเป็นหีบทอง 7 ชั้น ถัดจากนั้นเป็นหีบแก้วไพฑูรย์ 2 ชั้น (รวมเป็นหีบ 12 ชั้น) แล้วมีผ้ากะจ๋าคำ(ผ้าลายทอง) ห่อไว้อีก 500 ชั้น ถัดเข้าไปเป็นผ้าสีขาวอ่อนนุ่มเหมือนสำลีห่อพระอัฐิธาตุอยู่ โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการสร้าง พระธาตุอานนท์ ต่อ ๆ กันมาว่า เจตตานุวิน และ จินดาชานุ ชาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หลังจากออกบวชทำความเพียรได้ 3 ปี 25 วัน ทั้งคู่ก็เห็นว่าชาวเมืองเวียงจันทน์ต่างนับถือ พากันไปกราบไหว้ ดอนปู่บาว จึงคิดนำของศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่ ดอนปู่บาว เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่ง ๆ ขึ้น ดังนั้น จึงออกธุดงค์โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี 10 เดือน 11 วัน เดินทางมาถึงเมืองเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ปกครองโดย ท้าวพระยา ซึ่งขณะนั้นชาวเมืองกำลังก่อสร้างเจดีย์องค์หนึ่งอยู่ ครั้นก่อสร้างเสร็จ ท้าวพระยา จึงเข้าไปอัญเชิญพระอัฐิธาตุ ซึ่งต้องไขประตูเข้าไป 3 ชั้น จึงจะพบหีบพระอัฐิธาตุ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงสอบถามชาวเมืองได้จนได้ความว่าเป็นพระอัฐิธาตุของ พระอานนท์ พระเถระคนสำคัญของพระพุทธเจ้า ซึ่งเล่ากันว่า พระอานนท์ นิพพานบนอากาศกลางแม่น้ำโรหิณี (กั้นระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์ กับ กรุงเทวทหะ) พระองค์ได้อธิษฐานร่างกายให้แตกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งตกลงทางกรุงกบิลพัสดุ์ ส่วนที่สองตกลงทางกรุงเทวทหะ เจตตานุวิน ได้ฟังดังนั้นจึงจัดเครื่องสักการะบูชา แล้วอธิษฐานจิตขอเห็นอภินิหาร ซึ่งก็บังเกิดมีลมพัดห่อผ้าอัฐิธาตุ (ห่อผ้ากะจ๋าคำ) ลอยขึ้นสู่อากาศเป็นอัศจรรย์ เจตตานุวิน จึงอธิษฐานจิตให้ห่อผ้าพระอัฐิธาตุลอยลงมา ห่อผ้าก็ลอยลงมาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก ต่อมา เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงอ้อนวอนขอแบ่งพระอัฐิธาตุจาก ท้าวพระยา อยู่หลายวัน จน ท้าวพระยา ใจอ่อนยอมแบ่งผงธุลีประมาณเต็ มเปลือกไข่นกกระเรียน กับอัฐิธาตุ 1 องค์ ประมาณเท่าดอกสังวาลย์ (คล้ายดอกลีลาวดี) ให้ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงเดินทางกลับเมืองเวียงจันทน์ และเตรียมจัดสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุที่ ดอนปู่ปาว แต่ชาวเมืองเวียงจันทน์ไม่ยินยอม ด้วยหาว่าผิดผีบ้านผีเมือง ทั้งยังขับไล่ออกจากเมือง เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงหนีมาอยู่กับเจ้าเมืองขอม ชื่อว่า เอียงเวธา ครั้นผ่านไป 3 ปี จึงชักชวนให้ เอียงเวธา เป็นผู้นำสร้างเจดีย์ ซึ่ง เอียงเวธา ได้เลือกสถานที่สร้างเจดีย์ที่ ดงผีสิง (จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) ป่าทึบขนาดใหญ่ ไกลจากบ้านคนประมาณ 1.2 กิโลเมตร ใช้เวลาสร้างเจดีย์ 8 เดือน 25 วัน จึงแล้วเสร็จ สำหรับลักษณะของพระธาตุอานนท์ เจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงพรหมสี่หน้า ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ยอดธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบ มี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อยฐาน ทุก ๆ ปีในช่วงเดือนมีนาคมทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภชพระธาตุอานนท์ขึ้นเป็นประจำ โดยจัดในวันขึ้น 13 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 3 ตามฮีตคลองของชาวอีสาน คือเดือนมีนาคม ในคืนแรกจะจัดพิธีสมโภชองค์ พระธาตุอานนท์ ผู้ที่มาร่วมงานแต่งกายด้วยชุดขาว ทำพิธีตลอดคืน ส่วนในคืนที่สองและคืนที่สามมีมหรสพรื่นเริงสมโภชตลอดคืน

แผนที่คลิกที่นี่









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น