วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ภาพทิวสนสองใบสามใบเรียงรายตลอดแนวอ่างเก็บ โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) @ แม่ฮ่องสอน

โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)

ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภาพทิวสนสองใบและสนสามใบเรียงรายตลอดแนวอ่างเก็บน้ำอันกว้างใหญ่กลางอ้อมกอดของขุนเขาเขียวชอุ่มยามเช้า คือมนต์เสน่ห์ของปางอุ๋งที่นำพานักเดินทางเข้ามาเยือนที่นี่อยู่ตลอดทั้งปี ยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่มีสายหมอกขาวลอยเหนือผืนน้ำ ยิ่งเพิ่มบรรยากาศโรแมนติกให้กับปางอุ๋ง อย่างไรก็ตาม แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ปลูกฝิ่นของชาวเขา และมีการบุกรุกทำลายป่าอยู่เสมอ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรบริเวณนั้น พร้อมกับพัฒนาความเป็นอยู่ของพวกเขา ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน ปัจจุบันปางอุ๋งได้กลายมาเป็นแหล่งปลูกพืชที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น อะโวคาโด พลับ สาลี่ บ๊วย อีกทั้งยังมีการตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว เช่น กุหลาบ ไฮเดรนเยีย พวงแสด มีการปลูกสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ในด้านอาหารและแพทย์แผนไทย ซึ่งกลมกลืนกับพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็น และสุดท้ายคือบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์ประจำถิ่นซึ่งกำลังจะสูญพันธ์อย่างเขียดแลว นอกจากกิจกรรมชมธรรมชาติยามเช้าของปางอุ๋งแล้ว นักท่องเที่ยวยังนิยมล่องแพชมทัศนียภาพในทะเลสาบที่มีหงส์ดำและหงส์ขาวอย่างละ 1 คู่ ซึ่งได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเติมความงดงามให้ปางอุ๋งติดตรึงอยู่ในหัวใจ นักท่องเที่ยวไปตราบนานแสนนาน












สภาพภูมิอากาศ

        ภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด อากาศหนาวจัดในฤดูหนาว และฝนจะตกชุกในฤดูฝนมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี มี  3  ฤดู
            • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ช่วงระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อน อบอ้าว
            • ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคมได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้อากาศชุ่มชื้นฝนจะตกชุกมากซึ่งมีปริมาณฝนมากที่สุดในเดือนสิงหาคม
            • ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม - กลางเดือนกุมภาพันธ์โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงจากประเทศจีน อากาศจะหนาวเย็นมาก
        อุณหภูมิจะแตกต่างกับในตัวเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ระหว่างกลางวันกับกลางคืน และฤดูร้อนกับฤดูหนาว ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาสูง อุณหภูมิทั้งกลางวันและกลางคืน จะอยู่ในช่วง 15 - 25 องศาเซลเซียส สำหรับฤดูหนาวจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงจากประเทศจีน อากาศหนาวจัดโดยอุณหภูมิต่ำสุดตลอดทั้งปีจะอยู่ในช่วง 3.9 – 22.0 องศาเซลเซียส

ชนิดป่าและสัตว์ป่า            


       ชนิดป่าที่พบได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง และมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ก่อชนิดต่าง ๆ ไม้สนสองใบ สนสามใบ สัก ทะโล้ งิ้วป่า มะม่วงป่า หว้า ไผ่ หวาย กล้วยไม้ป่า สำหรับสัตว์ป่าที่พบได้แก่ เก้ง หมูป่า ไก่ป่า ลิง นกนานาชนิด

ทิปส์ท่องเที่ยว

          • ปางอุ๋งเปิดให้เข้าพื้นที่ทุกวัน เวลา 06.00-20.00 น.
          • นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรมต้องลงทะเบียนผ่านศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถนนขุนลุมประพาส ตำบลจองคำ อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5361 1244, 08 5618 3303 โทรสาร 0 5361 1649 จึงจะสามารถนำรถเข้าปางอุ๋งได้ ถึงแม้จะมีบัตรค้างแรมแต่ก็นำรถเข้าออกพื้นที่ได้ระหว่างเวลา 09.00-18.00 น. เท่านั้น ที่พักบนปางอุ๋ง จะมีเครื่องปั่นกระแสไฟให้ใช้เฉพาะช่วงเวลา 18.00-22.00 น. เท่านั้น นักท่องเที่ยวควรเตรียมไฟฉายและแบตเตอรีสำรองให้เพียงพอต่อการใช้งาน
          • นักท่องเที่ยวที่ไม่พักค้างแรม ไม่ต้องรับบัตรผ่าน แต่ไม่สามารถนำรถส่วนตัวขึ้นไปได้ และสามารถจอดรถขึ้นรถโดยสารได้ที่บ้านนาป่าแปก จากบ้านนาป่าแปกไปปางอุ๋ง รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลา 15 นาที มีบริการรถสองแถวทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น.
          • การจองที่พักสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5361 1244 โทรสาร 0 5361 1649

เดินทางโดยรถยนต์

โดยรถประจำทางจากเมืองแม่ฮ่องสอนใช้เส้นทางสายแม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเส้นทางเดียวกับไปภูโคลน ผ่านน้ำตกผาเสื่อ พระตำหนักปางตอง เดินทางขึ้นไปเรื่อย ๆ สังเกตทางแยกซ้ายมือจะมีป้ายเล็ก ๆ เขียนว่าไป "บ้านรวมไทย" ให้เลี้ยวซ้ายไป ผ่านหมู่บ้านห้วยมะเขือส้มแล้วถึงบ้านรวมไทย หรือปางอุ๋ง เส้นทางนี้คดโค้งขึ้นเขาชันและถนนแคบ บางครั้งมีหมอกเป็นอุปสรรค จึงควรเดินทางในช่วงกลางวัน

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่ : หมู่ที่ 5 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
 เบอร์โทร : +66 5361 1244, +668 5618 3303
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 06.00 - 20.00

ขอบคุณภาพ จาก Pantip คลิกที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น