วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เที่ยวทำบุญ พระลอยน้ำ 5 พี่น้อง


เที่ยวทำบุญ พระลอยน้ำ 5 พี่น้อง









1. พระพุทธรูปองที่หนึ่ง "หลวงพ่อโสธร" แห่งแม่น้ำบางปะกง






วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดหงษ์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง
ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ มีรูปทรงสวยงามมาก ได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน
แต่เดิม หลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม พระพรหมคุณาภรณ์(จริปุณโญ ด. เจียม กุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 [1]
การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ [1]
ศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาล โดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ
วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดที่มีผู้คนมาอธิษฐานขอพรกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวัดหยุดนักขัตฤกษ์จะมีผู้คนแวะเวียนกันมาหนาแน่นตลอดทั้งวัน หากใครประสบผลสำเร็จในคำขอพร คำบนบาน ก็มักจะมาแก้บนกันด้วยไข่ต้ม หรือ ละครรำ แต่ไข่ต้มนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก จนทำให้การถือตะกร้าไข่ต้มในวัดแห่งนี้เป็นเรื่องปกติไปเลย
ทางวัดมีโซนจอดรถบริเวณด้านหลังวัด โดยมีพื้นที่จอดค่อนข้างกว้างขวาง สามารถรองรับผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แต่หากมีผู้นมาเกินกว่าที่พื้นที่ของทางวัดรองรับได้ ก็สามารถจอดรถฝั่งตรงข้ามที่เป็นส่วนของโรงเรียนได้








2. พระพุทธรูปองค์ที่สอง "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" แห่งแม่น้ำนครชัยศรี






วัดไร่ขิง พระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีนหรือเรียกอีกชื่อว่าแม่น้ำนครชัยศรี ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างโดย "สมเด็จพระพุทธฒาจารย์ (พุก)" มีหลวงพ่อวัดไร่ขิงซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ที่ชาวนครปฐมเคารพนับถือ ระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 3 ค่ำ เดือน 5 และช่วงเทศการตรุษจีนทุกปีจะมีงานเทศกาลนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิงประจำปี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของชาวนครปฐม เดิมเป็นวัดราษฏร์ ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2533
วัดไร่ขิง พระอารามหลวง หรือ วัดมงคลจินดาราม ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพรานห่างจากกรุงเทพฯ 32 กม. มีทางเข้า 3 ทาง คือ ทางแยกหน้าสถานีตำรวจโพธิ์แก้ว ทางแยกหน้าสวนสามพราน และทางแยกพุทธมณฑลสาย 5 วัดไร่ขิง เป็นวัดราษฎร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2334 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) เรียกชื่อวัดตามชื่อตำบล เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูนมาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิงด้วย ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ พุทธลักษณะเป็นสมัยเชียงแสน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนา และล้านช้าง ตามตำนาน เล่าว่าลอยน้ำมา และอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน วัดไร่ขิงนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชทานนามให้ว่า วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง) แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็ม ๆ ว่าวัดมงคลจินดารามไร่ขิง จนกระทั่งเหลือแต่ชื่อวัดไร่ขิงไปในที่สุด

วัดไร่ขิง พระอารามหลวง เป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี นิยมเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงกันอยู่เสมอ ทุกวันอาทิตย์จะมีตลาดนัดอาหารและผลไม้จำหน่ายหน้าวัด และที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าโบสถ์จะมีชาวสวนพายเรือนำพืชผักผลไม้มาจำหน่าย และบริเวณริมแม่น้ำหน้าโบสถ์นี้เป็นเขตอภัยทาน ร่มรื่น มีปลาสวายตัวโตนับพันอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อขนมปังเลี้ยงปลาได้ และยังมีก๋วยเตี๋ยวเรือ (หมู) รสเลิศขายทุกวัน นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า รวบรวมของเก่าเช่นถ้วยชาม หนังสือเก่า ซึ่งชาวบ้านนำมาถวายวัดจัดแสดงไว้ มีบ้านดินอินทณัฐซึ่งสร้างจากดินเหนียวซึ่งภายในเล่าถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า มีบ่อปลาคาร์ฟให้ผู้ที่มาทำบุญได้ให้อาหารด้วยขวดนม มีจุดพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงาม และในระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 3 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี ทางวัดไร่ขิงจะจัดงานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้น มีการออกร้านและมหรสพมากมาย







3. พระพุทธรูปองค์ที่สาม "หลวงพ่อโต" แห่งคลองสำโรง แม่น้ำเจ้าพระยา




หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย(สะดุ้งมาร) องค์พระเป็นทองสำริดทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ลืมพระเนตร ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดบางพลีใหญ่ใน ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการกล่าวขวัญว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อน มีพระพุทธรูป 3 องค์ ลอยลงมาจากทางเหนือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำและบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้ผู้คนเห็นจนเป็นที่โจษจันกันทั่วถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์
ต่อมาพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยวกเข้าไปทางปากแม่น้ำท่าจีนจนได้ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเพชรสมุทร จังหวัดสมุทรสงครามในเวลาไล่เลี่ยกันพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งก็ลอยวกเข้าไปทางปากแม่น้ำบางปะกง จนได้ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
ส่วนอีกองค์หนึ่ง(หลวงพ่อโต)ก็ได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง ประชาชนที่พบเห็นต่างก็โจษจันกันไปทั่ว พร้อมกับได้ร่วมกันพยายามอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่ก็ไม่สามารถอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นได้สำเร็จ
ผู้มีปัญญาดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน เพราะแม้ว่าจะใช้ผู้คนจำนวนมากก็ยังไม่สามารถอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งได้สำเร็จ จึงควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยไปตามลำคลองสำโรง พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่าหากท่านประสงค์จะขึ้นที่ใดก็ขอให้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาหยุด ณ ที่นั้น
เมื่อประชาชนทั้งหลายเห็นพ้องกันดังนั้นแล้ว ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง ครั้นเมื่อแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านมาก็เกิดหยุดนิ่ง แม้ว่าจะพยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลังแพนั้นก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน
ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลีจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาอัญเชิญองค์ท่านขึ้นจากน้ำ ซื่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เมื่อใช้คนเพียงไม่มากนักก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่งและได้อาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา








4. พระพุทธรูปองค์ที่สี่  "หลวงพ่อบ้านแหลม" แห่งแม่น้ำแม่กลอง






วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เดิมชื่อ วัดบ้านแหลมในอดีตชื่อ วัดศรีจำปา ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงครามจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นอารามหลวง ชั้นวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
หลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2307 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมง วันหนึ่งได้มีชาวประมงไปลากอวนหาปลาที่ปากแม่น้ำแม่กลอง และอวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ วัดศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่งได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี






5. พระพุทธรูปองค์ที่ห้า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา" แห่งแม่น้ำเพชรบุรี





ตั้งอยู่ตำบลบางครก จากตัวเมืองเพชรบุรี ข้ามทางรถไฟ บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟเพชรบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 3176 ระยะทาง 10 กิโลเมตร จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดขนาดใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว มีประวัติเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์ คือ หลวงพ่อบางพลีใหญ่ และหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมด้วย ประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้เริ่มปลายสมัยอยุธยา ขณะที่ชาวบ้านแหลมเมืองเพชรหนีพม่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง ซึ่งได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้ วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าว ได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม ปัจจุบันนี้คือ วัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น