วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พาเที่ยว 10 ที่ @สมุทรสงคราม

พาเที่ยว 10 ที่ @สมุทรสงคราม   




1 ปลูกป่าชายเลน สมุทรสงคราม


กิจกรรมปลูกป่าชายเลน      กิจกรรมการปลูกป่าชายเลน ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจฟื้นฟูป่าชายเลน ผู้สนใจสามารถนั่งเรือหางยาวชมพื้นที่ป่าชายเลน โดย อบต.คลองโคนจะจัดเตรียมเรือหางยาว กระดานเลน กล้าไม้และอุปกรณ์การปลูกไว้ให้บริการ ปัจจุบันมีการช่วยเพิ่มเติมพื้นที่ป่าชายเลนไ้ด้มากกว่า 2,000 ไร่ และยังสามารถนั่งเรือชมพื้นที่ป่าชายเลน ชมนกนานาชนิด รวมทั้งลิงแสม และสัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงอย่างใกล้ชิด สอบถามข้อมูลเพิมเติมได้ทีิ่ อบต. ่คลองโคน โทร.0 3473 1329 หร็ือวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คลองโคน โทร. 08 6177 7942 ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ปี พ.ศ.2550 ประเภทชุมชนท่องเที่ยวดีเด่น   การเดินทาง ไปตามถนนพระราม 2 สู่ทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ประมาณกิโลเมตรที่ 72 จะเห็นสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางเข้า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเขายี่สารเข้าไป 500 เมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปอีก 4 กิโลเมตร



2 ดอนหอยหลอด


พบกับความมหัศจรรย์ของสันดอนปากแม่น้ำแม่กลองที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหอย มากมาย โดยเฉพาะ “หอยหลอด” นั้นถือว่ามีปริมาณมากที่สุด จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดอนหอยหลอด” นั่นเอง ดอนหอยหลอดนั้นเกิดจากการทับถมกันของตะกอนดินปนทรายที่ชาวบ้านเรียกกันว่าทรายขี้เป็ด เมื่อเป็นระยะเวลานานเข้า บริเวณนี้ได้ก่อเกิดเป็นสันดอนที่มีอาณาบริเวณกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร และยื่นออกไปในทะเลยาว 8 กิโลเมตร ครอบคลุมอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงครามในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ บางจะเกร็ง แหลมใหญ่ และบางแก้ว ในช่วงเวลาน้ำลงที่สันดอนโผล่ขึ้นมาชัดเจน ชาวบ้านแถบนั้นนิยมมาจับหอยหลอดกันที่นี่ โดยใช้ไม้ไผ่เล็กๆ ขนาดก้านธูป จุ่มปูนขาวแล้วเทลงไปในรู เมื่อหอยหลอดเมาปูนจะโผล่ขึ้นมา และนี่เองจึงเป็นที่มาของกิจกรรมความสนุกสนานของนักท่องเที่ยวที่ได้หยอดปูนจับหอยหลอดด้วยตัวเอง   รู้ก่อนเที่ยว - สามารถเช่าเรือบริเวณศาลาอาภากรใกล้กับศาลกรมหลวงชุมพรฯ เพื่อชมดอนหอยหลอด หรือสัมผัสวิธีการจับหอยหลอด ราคาเช่าลำละ 60 บาท นั่งได้ไม่เกิน 6 คน หรือราคาต่อคนๆ ละ 10 บาท - บริเวณดอนหอยหลอดมีร้านอาหารและร้านจำหน่ายของฝากพวกอาหารแห้งตั้งอยู่ตามริมทาง - ช่วงเวลาที่เหมาะกับการจับหอยหลอดมากที่สุดคือระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม - การจับหอยหลอดควรใช้วิธีหยอดปูนขาวลงไปในรู ไม่ควรสาดปูนขาวลงบนสันดอนเพราะจะทำให้หอยหลอด บริเวณนั้นตายหมด ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.+66 3472 3749, +66 3472 3736 



3 พิพิธภัณฑ์ขนมไทย 


ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ขนมไทยที่มีชีวิตแห่งแรกของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยความร่วมมือของเทศบาลตำบลอัมพวา บริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยภายในเต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้นมากมาย จากขนมไทยต่างๆ ที่จำลองขึ้นมาให้เหมือนกับของจริง ซึ่งขนมที่จัดแสดงนั้นมีตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ไล่เรียงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมมงคล 9 อย่าง ขนมหวานในหม้อดิน ขนมในโหลแก้ว ฯลฯ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับการทำขนม และผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่ใช้กับขนมไทย รวมถึงพาหนะขายขนมสมัยโบราณที่น่าสนใจ อาทิเช่น จักรยานสามล้อพ่วงหาบเร่ เรือพายขายขนมที่คุณสามารถเข้าไปนั่งในเรือเสมือนเป็นแม่ค้าในสมัยนั้น   เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น.   สอบถามรายละเอียดที่โทร. +66 3475 0350-1, +668 8865 8661 



4 ตลาดน้ำอัมพวา  


วันเปิดทำการ : วันศุกร์ - วันอาทิตย์ เวลาเปิดทำการ : 14.00 - 20.00   รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว ถ้าพูดถึงตลาดน้ำ (Thailand Floating Market) ที่เก่าแก่และโด่งดังมาอย่างยาวนานของเมืองไทย คงต้องนึกถึงตลาดน้ำอัมพวา (Amphawa Floating Market) เป็นอันดับต้นๆ  ตลาดริมคลองแห่งนี้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นตลาดน้ำ (floating market near Bangkok) ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ทุกวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ที่นี่จึงคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาเดินเล่นรับลมเย็นริมน้ำ บ้างก็เลือกซื้อหาของกินอร่อยๆ จากร้านต่างๆ ที่เปิดขายเรียงรายอยู่ทั้งสองฝั่งคลอง อาหารหรือขนมบางอย่างเป็นสูตรโบราณที่ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว บางร้านก็มีอาหารหรือขนมแบบใหม่ๆ แปลกๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิมหรือซื้อไปฝากญาติฝากเพื่อน บ้างก็สนุกกับการจับจ่ายสินค้าที่ระลึกในรูปแบบย้อนยุค นอกจากนี้ยังมีบริการล่องเรือชมวิว ชมชีวิตริมคลองอัมพวา และสถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งการเฝ้าดูหิ่งห้อยส่องแสงรายรอบต้นลำพูที่เติมความสวยงามให้กับยามราตรีได้เกินคำบรรยาย   สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง อุทยานฯ ร.2 ชมบรรยากาศจำลองของชีวิตผู้คนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชมเรือนไทย และสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ มากมาย   วัดบางกุ้ง เป็นที่ตั้งของโบสถ์ปรกโพธิ์ หนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ ซึ่งเป็นโบสถ์ที่มีรากของต้นไม้ตระกูลต้นโพต้นไทรปกคลุมโบสถ์ทั้งหลัง   อาสนวิหารแม่พระบังเกิด โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งนี้มีอายุเก่าแก่และมีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมในสไตล์โกธิคมาก เป็นโบสถ์คริสต์ที่สวยติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย   ตลาดน้ำท่าคา ตลาดน้ำที่มีความเก่าแก่เกิน 100 ปีอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม พ่อค้าแม่ค้าพายเรือมาขายของอย่างคับคั่ง ตลาดเปิดช่วงเช้า   ตลาดน้ำบางน้อย เป็นตลาดน้ำโบราณที่อยู่ริมคลอง อาจจะไม่ใหญ่เท่าตลาดน้ำอัมพวา แต่ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบ มีความสงบมากกว่า นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ริมคลองได้อย่างเต็มที่ ตลาดเปิดช่วงเช้า   ข้อมูลการเดินทาง โดยรถยนต์ หากมาโดยรถยนต์  ให้ใช้ถนนพระราม 2 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ทางหลวงหมายเลข 35 ถึง กม.ที่ 63 เข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม ผ่านตัวเมือง จากนั้นเข้าทางหลวง 325 สมุทรสงคราม-บางแพ กม.ที่ 36-37 มาทางแยกซ้ายเข้าไปทางที่จะไปอุทยานฯ ร.2 ตลาดน้ำจะอยู่ใกล้กับอุทยานฯ ร.2 โดยรถประจำทาง นั่งรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก มาลงที่ตลาดอัมพวาได้เลย   อ่านบทความโปรแกรมท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ได้ที่นี่   



5 วัดอัมพวันเจติยาราม


ไม่เพียงเป็นวัดของตระกูลราชนิกุลบางช้างเท่านั้น หากยังเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากเป็นนิวาสสถานเก่าของหลวงยกกระบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช) และคุณนาค (สมเด็จพระอัมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1) และยังเป็นสถานที่ พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 ด้วยเช่นกัน จากเดิมทีที่ชื่อว่า “วัดอัมพวา” เมื่อได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัย รัชกาลที่ 3 ก็ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอัมพวันเจติยาราม” และจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นโท   โดยสิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้เขียนขึ้นตามแบบรัตนโกสินทร์อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และบทพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมบริเวณระหว่างช่องประตูด้านล่างเป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนิน เลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค รวมทั้งกุฏิใหญ่ พระที่นั่งทรงธรรม พระตำหนัก พระวิหาร พระบรมรูปรัชกาลที่ 2 ซึ่งล้วนสะท้อนศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแทบทั้งสิ้น   สามารถเข้ารับชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.00 น.



6 วัดอินทาราม 


วัดสำคัญอีกวัดหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดนี้ให้เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ และประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว   ความน่าสนใจของวัดนี้ไม่เพียงอยู่ที่หลวงพ่อโต พระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 300 ปีที่ประดิษฐานคู่วัดนี้มายาวนานเท่านั้น ทุกคนต้องหาโอกาสได้เยี่ยมชมพระอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผาลดชั้น ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ปั้นลมมีเครื่องถ้วยจีนติดประดับเป็นแถว ด้านนอกมีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบ ปัจจุบันเหลือเฉพาะด้านหน้ามีซุ้มประตูกำแพงแก้วทรงโค้งยอดแหลมอยู่ 1 ซุ้ม   นอกจากนี้ตลอดทั้งปีทางวัดยังมีการจัดงานต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เข้าร่วม อาทิเช่น พิธีลอดใต้โบสถ์สะเดาะเคราะห์ การทำบุญวันเกิด การเสี่ยงเซียมซี และที่บริเวณท่าน้ำของวัดยังมีการจัดตลาดน้ำเล็ก ๆ รวมทั้งอุทยานปลาตะเพียนให้นักท่องเที่ยวได้สนุกกับกิจกรรม ให้อาหารปลาในวันพักผ่อน   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ +66 3476 0888, +66 3473 5505     




7 โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์


ที่นี่เหมือนเป็นดั่งห้องรับแขกของชุมชนอัมพวาที่บอกเล่าวิถีแห่งอัมพวาเมื่อสมัยก่อนได้อย่างละเมียดละไม โดยภายในโครงการนั้นแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สวนสาธิตการเกษตรเพื่อการเรียนรู้ เช่น สวนมะพร้าวและพืชต่างๆ มุมสาธิตการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว ลาน “นาคะวะรังค์” ลานวัฒนธรรมที่ตั้งชื่อตามผู้บริจาคที่ดินซึ่งใช้เป็นที่สำหรับจัดกิจกรรมและจำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากอัมพวา ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์นั้น จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณที่ค้นพบในอำเภออัมพวา นอกจากนี้ยังมีร้านค้าชุมชน ร้านชานชาลาที่จำหน่าย เครื่องดื่มและของว่าง ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นที่ล้อไปกับวิถีริมคลองของอำเภออัมพวาได้อย่างน่าประทับใจ   สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักประชาสัมพันธ์มูลนิธิชัยพัฒนา โทร. +66 2282 4425 ต่อ 006, 007, +66 2252 9880   เว็บไซต์ www.chaipat.or.th 



8 บ้านครูเอื้อ

วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักวงดนตรีชื่อดังในอดีตนาม “สุนทราภรณ์” และไม่มีใครไม่รู้จักครูเพลงท่านนี้ “เอื้อ สุนทรสนาน” ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังบทเพลงดังๆ มากมายของวงสุนทราภรณ์ในอดีตรวมทั้งเพลงลูกกรุงที่เคยดังทั่วเมืองไทย ยิ่งกว่านั้นท่านยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย ดังนั้นเพื่อรำลึกถึงอัครศิลปิน เพลงผู้ยิ่งใหญ่ จึงได้มีการจัดตั้ง “บ้านครูเอื้อ” ขึ้นมาภายใต้ความดูแลของมูลนิธิสุนทราภรณ์ บ้านหลังนี้เกิดจากการนำ บ้านไม้โบราณริมคลองอัมพวามาปรับปรุงเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติและผลงานของครูเอื้อ สุนทรสนาน เรื่องราวของเพลงสุนทราภรณ์นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่าน เครื่องดนตรี เสื้อผ้าที่เคย ใช้แสดง โต๊ะทำงาน และภาพเก่าที่หาชมได้ยาก เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า นอกจากนี้ภายในบ้านยัง มีมุมนั่งฟังเพลงย้อนยุค มุมจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และที่นี่ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาวอัมพวา” ของมูลนิธิชัยพัฒนาในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เพื่ออนุรักษ์เพลงเก่าใน ตำนานที่กลมกลืนไปกับฉากบ้านเก่าอันคลาสสิกของอัมพวาได้อย่างลงตัว   เปิดให้เข้าชมในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา 08.00-20.00 น.   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักประชาสัมพันธ์ มูลนิธิชัยพัฒนา โทร.+66 2282 4425 ต่อ 006-7, +66 2252 9880 และมูลนิธิสุนทราภรณ์ โทร.+66 2240 0974 โทรสาร +66 2240 3535, www.websuntaraporn.com, E-mail: soontaraporn@gmail.com



9 อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2)


ความงดงามของอุทยานฯ หรืออีกชื่อที่รู้จักกันดีว่า “อุทยาน ร.” แห่งนี้ซึ่งปรากฏผ่านเรือนหมู่ทรงไทยงามสง่า คือเสน่ห์แรกที่เชิญชวนทุกคนให้เข้าไปสัมผัส ภายในนั้นเต็มไปด้วยพื้นที่อันร่มรื่น และมีการจัดภูมิทัศน์ที่สวยงาม โดยมีไฮไลต์ที่น่าชมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เป็นอาคารทรงไทย 4 หลัง แบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น หอกลาง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 และจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น เครื่องถ้วยเบญจรงค์ หัวโขน ถัดจากนั้นคือห้องชาย ที่จัดแสดงความเป็นอยู่ของชายไทย รวมทั้งแท่นพระบรรทมที่เชื่อกันว่าเป็นของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาคือห้องหญิงที่จัดแสดงความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ และสุดท้ายคือห้องครัวและห้องน้ำที่จัดแสดงลักษณะครัวไทยซึ่งสะท้อนวิถีความเป็นอยู่ของชนชั้นกลางได้เป็นอย่างดี   นอกจากนี้ภายนอกยังมีโรงละครกลางแจ้งและสวนพฤกษชาติ อันเป็นสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิด อนึ่ง อุทยาน ร.2 นั้นเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสนองตอบต่อพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติ จนได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การยูเนสโก นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวไทยที่ไม่มีวันลืมเลือน     เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยในวันจันทร์-ศุกร์ เปิดเวลา 08.30-17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดเวลา 08.30-19.30 น.   ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.+66 3475 0666, +66 3475 0376 โทรสาร +66 3475 0376      อ่านบทความโปรแกรมท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ได้ที่   



10 วัดภุมรินทร์กุฎีทอง 


เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ราว ๆ ปี พ.ศ.2431 โดยมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดมากมาย ได้แก่ - กุฎีทอง สร้างด้วยไม้สักซึ่งจากประวัติวัดระบุว่า กุฎีทองหลังนี้ บิดาของคุณนาค (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 1) เป็นผู้สร้างถวาย - พิพิธภัณฑ์วัดภุมรินทร์และอุทยานการศึกษา สถานที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณล้ำค่าต่าง ๆ อาทิเช่น โถลายคราม หนังสือไทย เครื่องทองเหลือง รวมทั้งพระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัยนามว่า “พระพุทธรัตนมงคลหรือหลวงพ่อโต”  - ตลาดนัดวัดภุมรินทร์ จะจัดขึ้นทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เสน่ห์ของตลาดนัดแห่งนี้คือเป็นตลาดสินค้าเกษตร ที่ชาวสวนจะนำผลไม้จากสวนมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรงในราคาย่อมเยา   รู้ก่อนเที่ยว - วัดแห่งนี้อยู่ตรงข้ามกับเทศบาลตำบลอัมพวา สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบริเวณวัด แล้วนั่งเรือข้ามฟากไปเที่ยวตลาดน้ำอัมพวาได้ - สามารถใช้บริการล่องเรือจากศูนย์ท่องเที่ยวทางน้ำที่มีโปรแกรมล่องเรือหลายเส้นทางให้เลือก เช่น ล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 ล่องเรือเที่ยวตลาดน้ำ ฯลฯ     





ขอบคุณ ที่มา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น